Thursday 15 April 2010

ลีลาวาทะสมเด็จโตฯ โดย ร้อยเอกประชุม สุขสำราญ ๐ ก่อนจะเป็นสมเด็จโตฯ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นพระเถระที่ทรงคุณวิเศษอยู่หลายประการ ยังผลให้ "พระสมเด็จ" ที่ท่านสร้างได้รับความนิยมอย่างสูง แม้นคาถา "ชินบัญชร" ก็ยังเป็นที่นิยมสวดภาวนา จนเป็นคาถาที่เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์ สามารถบันดาลผลที่ปรารถนาได้สารพัด ทั้งนี้ก็ด้วยบารมีแห่งคุณวิเศษของท่านนั่นเอง เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต มีอายุยืนยาวถึง 5 รัชกาล คือ เกิดใน พ.ศ. 2331 (รัชกาลที่ 1) และสิ้นใน พ.ศ. 2415 (รัชกาลที่ 5) และเชื่อกันว่า เจ้าประคุณเป็นเชื้อพระวงศ์ด้วย ผมเคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่ พูดถึงประวัติของท่านโดยสรุปว่า "เกิดที่ไชโย โตที่วัดอินทร์ สิ้นที่วัดระฆัง" เพราะฉะนั้น ท่านจึงสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ในสถานที่ที่ท่านเกี่ยวข้องอยู่นั้น นัยว่าเพื่อให้สมกับชื่อ "โต" ของท่าน เช่นที่วัดเกตุไชโย อ่างทอง, หลวงพ่อโต วัดอินทร์ บางขุนพรหม กทม. เป็นต้น เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต ท่านประพฤติปฏิบัติแปลกๆ ซึ่งพระรูปอื่นไม่ทำหรือทำไม่ได้ และเมื่อท่านทำแล้ว แทนที่จะถูกตำหนิ ติเตียนกล่าวโทษท่าน แต่กลับได้รับความนิยมนับถือยิ่งขึ้น แม้พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นสมมติเทวดาก็ยังยินยอม ไม่ถือโทษ พระราชทานอภัย ทั้งนี้เพราะท่านทรงอภินิหารเป็นวิสามัญบุคคล เรียกว่าเป็นบุคคลประเภท "ปาปมุติ" ทำอะไรก็น่ารัก น่านับถือไปหมด ว่างั้นเถอะ เจ้าประคุณสมเด็จฯ เองก็เคยพูดถึงความประพฤติของท่านอยู่เสมอว่า "ที่เขาชมว่าขรัวโตดี นั่นแหละคือ ขรัวโตบ้า ที่เขาติว่านั่นแหละคือ ขรัวโตดี" หรือท่านพูดว่า "ทีขรัวโตบ้า ก็ว่าขรัวโตดี, ทีขรัวโตดี ก็ว่าขรัวโตบ้า" เป็นงั้นไป .............................................................. ๐ ช้างเผือกกินพระไตรปิฎก ความเป็นอัจฉริยะของท่านนั้น มีมาแต่เยาว์วัย เมื่อครั้งเป็นสามเณรโต ก่อนจะย้ายไปอยู่วัดระฆัง พระอาจารย์ที่วัดระฆังยังฝันไปว่า มีช้างเผือกเชือกหนึ่ง เข้ามากินหนังสือพระไตรปิฎกในตู้ของท่านหมด ซึ่งพระอาจารย์ตื่นขึ้น ก็เกิดความมั่นใจว่าฝันนั้นจะเป็นนิมิตว่าท่านจะได้ศิษย์ที่ฉลาดหลักแหลมคนหนึ่ง วันรุ่งขึ้น สามเณรโตก็ถูกนำตัวมาฝาก ท่านจึงรับไว้ด้วยความยินดี สามเณรโตเป็นช้างเผือกจริงขนาดไหนก็ลองฟัง สมเด็จพระสังฆราช (สุก) วัดมหาธาตุ ท่านพูดถึงสามเณรโตดูก็ได้ว่า ก่อนจะเรียนหนังสือ (สมัยนั้นเขาแปลหนังสือจากคัมภีร์ภาษามคธ เป็นภาษาไทย) ท่านก็ทูลสมเด็จพระสังฆราชว่า "วันนี้จะเรียนตั้งแต่บทนี้ ถึงบทนี้นะขอรับ" เสร็จแล้วเวลาเรียนก็เปิดหนังสือออกแปลจนตลอดตามที่กำหนดไว้ ท่านทำอย่างนี้ทุกครั้ง จนสมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นอาจารย์ว่า "ขรัวโตเขามาแปลหนังสือให้ฉันฟัง เขาไม่ได้มาเรียนหนังสือกับฉันดอก" .............................................................. ๐ หนีสมณศักดิ์ ท่านไม่ปรารถนายศศักดิ์ แม้จะเรียนรู้พระปริยัติธรรมอย่างที่เรียกได้ว่า "หนังสือดี" ก็ไม่เข้าแปลหนังสือสอบเป็นเปรียญ และไม่รับยศตำแหน่งทางสงฆ์ แต่ก็ประหลาด ท่านไม่เข้าสอบเป็นเปรียญ แต่ก็เรียก "พระมหาโต" ตั้งแต่บวชพรรษาแรกมา บางท่านก็เรียกว่า "ขรัวโต" เพราะท่านมักประพฤติแปลกๆ จะทำอย่างไรก็ทำตามความพอใจของท่าน ไม่ถือสาหาความกับใคร ขนาดรัชกาลที่ 3 จะทรงแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะ ท่านก็ทูลขอตัวเสีย และมักหลบหนีไปพักแรมที่ห่างไกล เรียกว่า "ไปธุดงค์" เพราะกลัวว่าจะต้องรับสมณศักดิ์นั่นเอง แต่ก็น่าแปลกนะครับ คนเราลองมีบุญเสียอย่าง ลาภ ยศ สรรเสริญ เจริญพระ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมหลั่งไหลมาเอง ไม่ต้องเขียนประวัติเชียร์ตัวเอง ก็ย่อมได้อยู่ดีแหละ .............................................................. ๐ หนีไม่พ้น ในรัชกาลที่ 4 เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต หนีไม่พ้น ต้องรับสมณศักดิ์ในตำแหน่ง "พระธรรมกิตติ" พอพระราชทานสมณศักดิ์แล้ว มีพระดำรัสว่า "ในรัชกาลที่ 3 หนี ไม่รับสมณศักดิ์ คราวนี้ทำไมไม่หนีอีกหล่ะ..." ท่านถวายพระพรว่า "ก็รัชกาลที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าฟ้านี่ (คือพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เป็นพระองค์เจ้า ไม่ได้เป็นเจ้าฟ้า) เป็นแต่เจ้าแผ่นดินเลยหนีได้ (ทำนองว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินหนีขึ้นฟ้าก็พ้นได้) ส่วนมหาบพิตรเป็นทั้งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจะหนีไปข้างไหนพ้น" ครั้นเสร็จการพระราชพิธีพระราชทานสมณศักดิ์แล้ว ท่านก็ออกจากพระบรมมหาราชวังหอบเครื่องไทยธรรม ถือพัดยศและย่ามมาเอง ใครจะรับก็ไม่ยอมส่งให้ พอถึงวัดระฆัง ท่านก็เดินร้องบอกดังๆ ว่า "ในหลวง ท่านให้ฉันมาเป็นสมภารวัดระฆังจ้าๆ" พระเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่มาคอยรับต่างก็เดินตามท่านไปเป็นขบวนใหญ่ เมื่อบอกกล่าวรอบวัดแล้ว ท่านจึงได้ขึ้นกุฏิ .............................................................. ๐ วิธีปราบพระนอกรีต เมื่อท่านเป็นสมภารวัดระฆังนั้น ปรากฏว่ามีพระเณรประพฤติล่วงพระวินัย ท่านก็ไม่กล่าวห้ามปรามหรือลงโทษทัณฑ์แต่อย่างไร ท่านใช้วิธีทำให้ผู้ทำผิดเกิดความละอายทีหลังก็ไม่กล้าทำอีก ครั้งหนึ่งพระ 2 รูปทะเลาะกัน ทุ่มเถียงกันที่หน้าวัด เสียงเถียงกันดังลั่นไปหมด เถียงกันไปเถียงกันมากลายเป็นท้าชก เมื่อถูกท้าอีกองค์ก็บอก "พ่อไม่กลัว" "พ่อก็ไม่กลัว" พระจะชกต่อยกันเสียแล้วล่ะครับ เจ้าประคุณสมเด็จฯ โต ได้ยินเสียงเอะอะอย่างนั้น ก็เอาดอกไม้ ธูปเทียนเข้าไปหาพระที่เถียงกันนั้น นั่งประนมมือพูดว่า "พ่อเจ้าประคุณ ฉันขอฝากเนื้อฝากตัวกับพ่อด้วย ฉันเห็นแล้วว่าพ่อเจ้าประคุณเก่งนัก นึกว่าเอ็นดูฉันเถิดพ่อคุณ" พระ 2 รูปนั้น ได้ฟังต่างก็แยกย้ายกันกลับกุฏิ ต่อมาเกิดความละอายและเสียใจได้เข้าไปกราบ ทำปฏิญาณกับท่านว่า จะไม่ประพฤติเช่นนั้นอีกต่อไป คราวหนึ่งท่านไปธุระกับนายเทศ ขณะเดินผ่านหลังโบสถ์ พบว่าพระกลุ่มหนึ่งกำลังเตะตะกร้อกัน ท่านเอาพัดด้ามจิ๋วคลี่ออก แล้วยกขึ้นบังหน้า ทำเป็นทีว่าไม่เห็น นายเทศถามว่า "ทำไมท่านจึงไม่ห้าม" ท่านตอบว่า "ถึงเวลาเลิก เขาเลิกกันเองแหละ ถ้าไม่ถึงเวลาเลิก แม้เราจะห้าม เขาก็ไม่เลิก" ต่อมาพระเหล่านั้นเตะตะกร้อกันอีก คราวนี้ท่านให้ไปตามพระเหล่านั้นมา ฉันน้ำร้อนน้ำชาผสมน้ำตาลทราย แล้วถามเป็นทำนองอยากรู้ว่า การเตะตะกร้อนี่ต้องฝึกหัดกันนานไหม ลูกข้างลูกหลัง อันไหนเตะยากกว่ากันอย่างไร พระเหล่านั้นรู้เจตนาของท่าน เกิดความละอาย ต่างก็เลิกไม่เตะตะกร้อกันแต่นั้นมา .............................................................. ๐ ความคะนองของเจ้ากู สมัยรัชกาลที่ 3 มีสามเณรที่มาเรียนหนังสือที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขณะที่คอยอาจารย์มาสอน ก็เตะตะกร้อรอเวลา เพลินไปเลย เจ้าหน้าที่วังเห็นก็มาห้ามปรามแต่ก็ไม่ยอมหยุด คงเข้าทำนองที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ว่า ถึงเวลาเลิก เขาเลิกกันเอง ไม่ถึงเวลาเลิก ทำอย่างไรก็ไม่เลิก เจ้าหน้าที่จึงนำความขึ้นกราบทูลรัชกาลที่ 3 พระองค์กลับรับสั่งว่า "เจ้ากูจะเล่นบ้าง ก็ช่างเจ้ากูเถอะ" เรื่องนี้เป็นมูลเหตุให้พระตามวัดต่างๆ เกิดนิยมเตะตะกร้อกันทั่วไป ด้วยถือว่า พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงตำหนิห้ามปราม ความจริง ถ้าเราศึกษาพระราชจริยวัตรของรัชกาลที่ 3 โดยตลอดจะเห็นว่า ทรงมีพระราชหฤทัยเสมอด้วยพระโพธิสัตว์ ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนามากมายหลายสถาน ทั้งการบูรณะซ่อมแซมวัดวาอาราม การศึกษาของพระภิกษุสามเณร จนขนาดให้เปิดพระราชวังให้เป็นสำนักเรียน เรื่องจะไปตำหนิพระเณรนั้น ย่อมไม่ทรงกระทำเป็นแน่ แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยอันกว้างขวางของพระองค์ ส่วนผู้มีจิตใจคับแคบก็มักจะหาความใส่กันอยู่เรื่อย อย่างคราวมีงานฉลองวัดพระเชตุพนฯ มีพระเณรเที่ยวเดินปะปน เบียดเสียดกับคฤหัสถ์ชายหญิง พลุกพล่านไปหมด ก็มีคนนำเรื่องนี้กราบทูล รัชกาลที่ 3 ก็รับสั่งว่า ".... คนก็มากด้วยกัน ก็ต้องเบียดกัน ! เป็นธรรมดา" เข้าใจได้อย่างนี้ ก็สบายใจทั้งพระทั้งโยมแหละครับ .............................................................. ๐ สวดมนต์จังหวะแปลก คราวหนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปธุระ ขากลับผ่านมาทางวัดชนะสงคราม พบพระลูกวัดของท่าน คือวัดระฆังนั่นแหละกำลังสวดตลกคะนองที่วัดนั้น ท่านจึงแวะเข้าไปนั่งยองๆ ตรงหน้าพระสวดนั้น แล้วประนมมือกล่าวว่า "สาธุ สาธุ สาธุ" แล้วลุกขึ้นเดินหลีกไป พระเหล่านั้นรู้สึกตัวว่าตนทำผิด ทำให้สมภารวัดต้องอับอายขายหน้า ก็เกิดความละอาย บางองค์ก็สึก องค์ที่อยู่ก็ตั้งใจสังวรไม่ประพฤติเช่นนั้นอีก สมัยก่อน การสวดตลกคะนองเป็นที่นิยมแพร่หลาย บางครั้งพระนักสวด สวดหยาบโลนจนเสียสมณะสารูป ไม่สมที่เป็นพระ ต้องถูกลงโทษ มีพระบรมราชโองการให้ชำระพระสวดรำต่างๆ ส่งมาเป็นทหารก็มี สึกเอามาเป็นไพร่หลวงก็มี สมัยนี้จะหาวัดที่มีพระสวด เล่นกระแทกจนด้ามตาลปัตรหักนี่หายาก นานๆ จะได้ยินสักครั้งหนึ่ง .............................................................. ๐ ตีกันเพราะกรรมเก่า ต่อมาครั้งหนึ่ง พระวัดระฆังเกิดทะเลาะกันรุนแรงถึงขั้นลงไม้ลงมือตีกันหัวแตก องค์ที่ถูกตีมาฟ้องเจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้ช่วยชำระคดีให้ที แต่ท่านบอกกับพระองค์นั้นว่า "คุณตีเขาก่อนนี่จ๊ะ" "กระผมไม่ได้ตี มีคนเป็นพยานได้" พระรูปนั้นเถียง ท่านก็ยังยืนยันว่า คุณตีเขาก่อน อยู่นั่นเอง พระรูปนั้นไม่พอใจ จึงไปฟ้องสมเด็จพระวันรัต (เซ่ง) วัดอรุณ ว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ โต ไม่ยอมให้ความเป็นธรรม เราถูกตีก็บอกว่าเราตีเขาก่อน ทั้งทีไม่ได้ตีเลย สมเด็จพระวันรัตจึงถามเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านก็ยังยืนยันคำพูดเดิม สมเด็จพระวันรัตจึงถามว่า รู้ได้อย่างไรว่าพระองค์นี้ตีเขาก่อน ท่านก็ตอบว่า รู้ได้ตามพระพุทธภาษิตว่า "เวรไม่ระงับเพราะการจองเวร นี่เป็นเวรต่อเวรมันตอบแทนกัน" (หมายถึงองค์ที่ถูกตีนั้น เมื่อก่อน-ชาติก่อนเคยตีเขามาก่อนแล้ว) "ถ้าอย่างนั้น ท่านจงรับภาระช่วยระงับอธิกรณ์นี้ อย่าให้เป็นเวรกันเถอะ" ท่านจึงให้โอวาทว่า ให้ตั้งอยู่ในสมณสัญญา มีหิริโอตตัปปะ และไม่พึงจองเวรอาฆาตมาดร้ายกันต่อไป แล้วท่านก็เอาเงินทำขวัญให้แก่พระที่ถูกตี 12 บาท บอกว่า ท่านทั้งสองไม่มีความผิด ฉันเป็นผู้ผิด เพราะฉันปกครองไม่ดี .............................................................. ๐ ร้อยคำสอนไม่เท่ากับหนึ่งตัวอย่าง ว่ากันว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นคนเจ้าระเบียบ รักสวยรักงาม เมื่อไปพบเห็นที่ใดที่พระเณรทำสกปรก เช่นทิ้งเปลือกเงาะ ทุเรียน หรือเม็ดผลไม้ ไปทางหน้าต่างกุฏิ ท่านก็เก็บกวาดจนสะอาดเรียบร้อย พระเณรเห็นเข้าก็ไม่กล้าทำสกปรกอีก บางครั้งพระเณรไม่ลงทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น ท่านก็ลงไปทำแต่องค์เดียว สวดมนต์องค์เดียว ไม่ช้าพระเณรท่านก็ละอายใจ พากันไปลงทำวัตรสวดมนต์กันหมด หน่วยงานใดก็ตาม ถ้าผู้ร่วมงานไม่ค่อยให้ความร่วมมือในกิจกรรมส่วนรวม ผู้บังคับบัญชาน่าจะใช้วิธีนี้บ้าง .............................................................. ๐ สายเพราะคอยบอกลา ตามปกติ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไม่ค่อยจะมีเวลาว่าง ต้องไปกิจนิมนต์บ้าง ไปดูแลควบคุมการก่อสร้างบ้าง บางปีก็ไปธุดงค์ ทางวัดระฆังจึงไม่ค่อยได้ดูแลปกครอง ต้องมอบการงานในวัดให้พระครูปลัดดูแลแทน และท่านได้สั่งพระเณรในวัดว่า ถ้ามีกิจไปนอกวัดก็ให้บอกลาพระครูปลัดก่อน แม้ตัวท่านเองจะไปไหน ก็บอกลาพระครูปลัดเหมือนกัน ครั้งหนึ่งท่านไปนิมนต์ไม่ทันงานพระราชพิธี พระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ตรัสถามว่า ทำไมจึงมาล่าช้านัก ท่านจึงถวายพระพรว่า เพราะท่านคอยบอกลาพระครูปลัด ซึ่งยังจำวัดยังไม่ตื่น จึงทำให้ล่าช้า

No comments: